ความชรา Aging

ความเสื่อมของร่างกาย หรือความชรา ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก อาการต่างๆที่เป็นสัญญาณของความชรา ได้แก่

  • ผิวหย่อนคล้อย มีริ้วรอยและร่องลึก
  • ผมบาง แห้งเปราะ สีผมเริ่มอ่อนจางเป็นสีเทา
  • การมองเห็นลดลง สายตายาว ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม
  • อาการตึงและปวดข้อ
  • มวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
  • การเผาผลาญช้าลง น้ำหนักเพิ่ม เกิดโรคเกี่ยวกับการเผาผลาญต่างๆ
  • ประสาทความทรงจำและการรับรู้แย่ลง
  • อ่อนเพลีย พลังงานลดลง

 

ในทางการแพทย์แผนจีน ปัจจัยภายในใหญ่ๆที่ส่งผลต่อความชราได้แก่

1. หยินหยาง

หยินหมายถึงการบำรุง ความเย็น ความชุ่มชื้น หยางหมายถึงความกระตือรือร้น ความอบอุ่น การพร่องของหยินหยาง นำไปสู่ความไม่สมดุล แสดงออกมาในรูปอาการผิดปกติต่างๆ ตั้งแต่ การทำงานของอวัยวะภายในลดลง สมรรถภาพ ความผิดปกติของการรับรู้อุณหภูมิ

2. การลดลงของสารสำคัญ

สารสำคัญ จิง-ชี่ จะลดลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น และยังลดลงจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่หักโหม ตรากตรำ

จิง เกี่ยวข้องกับความมีชีวิตชีวา การเจริญเติบโต และการแก่ชรา ซึ่งรวบรวมมรดกทางพันธุกรรมและความแข็งแรงของพื้นฐานร่างกายของแต่ละบุคคล

ชี่ คือพลังของร่างกาย การเผาผลาญ การไหลเวียน และการทำงานทางสรีรวิทยา กินความถึงพลังชีวิต และพลังต้านทานปัจจัยก่อโรคต่างๆด้วย


3. อวัยวะภายใน

ไต เป็นต้นตออของความมีชีวิตชีวา และความมีอายุยืนยาว ไตจะอ่อนแอลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น

ม้ามและกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหาร เมื่ออ่อนแอลง ทำให้การสร้างพลัง และการหล่อเลี้ยงร่างกายลดลง

ตับ ควบคุมการไหลเวียนของชี่(พลัง)และเลือด หากการไหลเวียนไม่ราบรื่น นำไปสู่ความไม่สมดุลทางอารมณ์ ฮอร์โมน

ในขณะที่ หยินหยางของร่างกาย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของไต สารจำเป็น"จิง" ถูกเก็บที่ไต สมรรถภาพทางเพศ และความสามารถในการเจริญพันธุ์ก็เกี่ยวข้องกับไตเป็นหลัก ไตจึงเป็นอวัยวะภายในที่มีความเกี่ยวข้องกับความชราเป็นอย่างยิ่ง การรักษาความแข็งแรงสมบูรณ์ของไต การลดการสูญเสียสารสำคัญของไต จึงเป็นหลักการพื้นฐานในการชลอความชรา

 

Visitors: 300,085