ลูกซัด Fenugreek - งานวิจัยที่น่าสนใจ

>> คอเลสเตอรอล <<


ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลและต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากเมล็ดลูกซัด 14/10/13

พบว่าเฉพาะสารสกัดเอทิลอะซิเตรท มีผลลดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมัน LDL (low-density lipoprotein cholesterol) และเพิ่มระดับของไขมัน HDL (high-density lipoprotein cholesterol) ในเลือดของหนูที่มีไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้ยังมีผลลดปริมาณของ thiobarbituric acid-reactive substances (TBARS) เอนไซม์ catalase และ superoxide dismutase ในตับ หัวใจ และไตของหนู จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีพบว่า สารสกัดเมทานอลและเอทิลอะซิเตรทจะมีปริมาณของสารฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์สูงกว่าสารสกัดอื่นๆ ดังนั้นผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลและต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตรทจากเมล็ดลูกซัดอาจเนื่องมาจากสารฟลาโวนอยด์ในสารสกัด

 

เมล็ดลูกซัดช่วยลดการรับประทานไขมันในอาสาสมัครที่มีน้ำหนักเกิน 12/04/11

พบว่าอาสาสมัครที่รับประทานสารสกัดจากเมล็ดลูกซัดบริโภคไขมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก (fat-REI/TEE 0.26±0.02 vs. 0.30±0.01, P=0.032) นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์จากเมล็ดลูกซัดช่วยลดอัตราส่วนของอินซูลินต่อกลูโคสของอาสาสมัครลง โดยไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว ความอยากอาหารและการเกิดออกซิเดชั่นของร่างกาย

 

ผลของลูกซัดในคนอ้วน 09/04/10

การบริโภคใยอาหารจากลูกซัดขนาด 8 ก. มีส่วนช่วยเพิ่มระยะเวลาของความรู้สึกอิ่ม และลดพลังงานที่ได้รับจากการบริโภคอาหารในมื้อกลางวัน โดยไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังรับประทานอาหาร

 

 

 

 

>> เบาหวาน <<

 

ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารจากเมล็ดของลูกซัด 11/02/13

การทดสอบฤทธิ์ต้านเบาหวานของกรดอะมิโน 2S, 3R, 4S) 4-hydroxyisoleucine (4HO-Ile) ซึ่งแยกได้จากเมล็ดของลูกซัด (Trigonella foenum graecum) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ด้วย streptozotocin โดยสัตว์ทดลองจะมีระดับของอินซูลินต่ำกว่าหนูปกติถึง 65% พบว่าการให้หนูที่เป็นเบาหวานกินสาร 4HO-Ile 50 มก./กก./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลง ระดับไขมัน ได้แก่ cholesterol, HDL, LDL และ triglycerides รวมทั้งระดับ uric acid ที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นเบาหวาน ก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สาร 4HO-Ile มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยไม่มีผลต่อระดับอินซูลิน ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการรักษาเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่


สารสกัดจากเมล็ดลูกซัดป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางไตจากเบาหวาน 24/08/12

สารสกัดจากเมล็ดลูกซัดป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางไตจากเบาหวานในหนูแรทได้โดยออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งออกซิไดซ์ของดีเอ็นเอ

 


ผลของซาโปนินในลูกซัดเมื่อให้ร่วมกับยา sulfonylureas ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 23/01/09

การใช้ยาแคปซูลผงเมล็ดลูกซัดร่วมกับยา sulfonylureas มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยให้อาการต่างๆ ของโรคเบาหวานดีขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รักษาด้วย sulfonylureas อย่างเดียวแล้วไม่ได้ผล

 


ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดเมล็ดลูกซัด 11/07/08

"การศึกษาผลของสารสกัดเมล็ดลูกซัดด้วยน้ำ ในหนูถีบจักรเพศผู้อายุ 8-10 สัปดาห์ที่ถูกทำให้เป็นโรคเบาหวานด้วยสาร alloxan ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเบต้าเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อน พบว่าการฉีดสารสกัดเมล็ดลูกซัดขนาด 15 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. เข้าช่องท้องหนูถีบจักรติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน ระดับกลูโคสในเลือดลดลงในวันที่ 5 และมีผลต่อเนื่องไปถึงวันที่ 10 โดยที่น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับหนูที่เป็นเบาหวานซึ่งน้ำหนักตัวจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ส่วนการฉีดสารสกัดเมล็ดลูกซัดด้วยน้ำเพียงครั้งดียวในขนาด 15 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.เข้าช่องท้องหนูถีบจักรที่ถูกทำให้เป็นโรคเบาหวานด้วยสาร streptozotocin พบว่า มีผลลดระดับน้ำตาลในนเลือด (fasting blood glucose) ที่นาทีที่ 90 หลังฉีดสารสกัด โดยเปรียบเทียบกับการฉีดอินซูลินในขนาด 1.5 U / น้ำหนักตัว 1 กก. ผลการลดระดับน้ำตาลนี้เกี่ยวกับการเพิ่มเอนไซม์ hepatic glucokinase และเอนไซม์ hexokinase ในตับ นอกจากนี้ยังมีผลในการช่วยลดระดับความเข้มข้นของอินซูลินในเซรั่มในหนูปกติหลังจากให้กลูโคส ในการทดสอบ glucose tolerance test

เมื่อการศึกษาสิ้นสุดลงแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมล็ดลูกซัดมีผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมในโรคเบาหวาน โดยมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับอินซูลินและมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ทางการแพทย์

 


เปรียบเทียบสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่เป็นเบาหวานจาก alloxan 28/03/03

การศึกษาสมุนไพรพื้นบ้านของประเทศอินเดียชนิดต่างๆ 30 ชนิดที่มีการใช้เพื่อลดน้ำตาลในเลือด ศึกษาโดยใช้สารสกัดเอทานอล 95% ทำให้แห้ง นำมาศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคเบาหวานด้วย alloxan เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยใช้สารสกัดขนาด 250 มก./กก. 1 ครั้ง, 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งต่อวันจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงจนถึงระดับปกติเมื่อสัตว์ทดลองอดอาหาร พบว่าสมุนไพร 24 ชนิดที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ ตำลึง, Tragia involucrate, Gymnema, ประดู่, ลูกซัด, มะรุม, หว้า, ชิงช้าชาลี, Swertia chirayita, มะระขี้นก, มะเดื่อชุมพร, Ficus benghalensis, พังพวยฝรั่ง, Premna integrifolia, หมามุ่ย, สมอพิเภก, Sesbenia aegyptiaca, สะเดา,Dendrocalamus hamiltonii, ขิง, มะตูม,Cinnamomum tamala, บวบขม, กะเพรา

 


ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดจากลูกซัด 18/05/01

สารสกัดน้ำ 0.5 และ 1กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว และสารสกัดเมธานอล 1 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสารที่ออกฤทธิ์ดังกล่าวอาจเป็นสารที่มีขั้วเนื่องจากสารสกัดน้ำสามารถออกฤทธิ์ได้แรงกว่า

 

 

 

>> สมรรถภาพทางเพศ<<

ผลของสารสกัดมาตรฐานจากลูกซัดต่อความต้องการทางเพศในเพศชาย 25/05/12

การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มและปกปิดทั้งสองฝ่ายโดยมีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอก (double blind randomized placebo controlled study) ของ Testofen ซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัดมาตรฐานจากลูกซัด (Trigonella foenum-graecum ) และแร่ธาตุต่างๆ ต่อความต้องการทางเพศ ในอาสาสมัครเพศชายสุขภาพดีจำนวน 60 คน อายุระหว่าง 25 - 52 ปี และไม่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยให้รับประทาน Testofen วันละ 2 เม็ด ซึ่งเทียบเท่ากับ Testofen 600 มก.ต่อวัน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า Testofen สามารถเพิ่มความต้องการทางเพศของอาสาสมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเผาผลาญพลังงาน รวมทั้งทำให้อาสาสมัครมีสุขภาพดีขึ้น โดยไม่มีผลต่อสภาวะของอารมณ์และการนอนหลับ ระดับของฮอร์โมน prolactin และ testosterone อยู่ในช่วงปกติ จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่า Testofen ให้ผลด้านบวกกับความต้องการทางเพศ และอาจช่วยรักษาระดับของฮอร์โมน testosterone ให้อยู่ในช่วงปกติด้วย

 

 


>> ทางเดินอาหาร <<

 

ผลในการรักษาอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกของเส้นใยอาหารจากลูกซัด 03/06/11

ได้รับเส้นใยอาหารจากลูกซัดขนาด 500 มก./แคปซูล วันละ 2 ครั้งๆ ละ 4 แคปซูล โดยรับประทานก่อนอาหาร 30 นาที เป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ พบว่าเส้นใยอาหารจากลูกซัด จะช่วยลดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกของผู้ป่วยได้ และให้ผลในการรักษาใกล้เคียงกับยาลดกรด Ranitidine

 

 

>> พิษ<<


พิษวิทยาของสารสกัดเมล็ดลูกซัดในหนูเม้าส์ 14/01/11

สารสกัดน้ำที่ทำให้แห้งด้วยความเย็นของเมล็ดลูกซัด ขนาด 500 และ 1,000 มก./กก.วัน มีความเป็นพิษที่เป็นอันตรายต่อตัวอ่อนของหนูเม้าส์อย่างชัดเจน

 


อื่นๆ

สารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดยับยั้งความเป็นพิษต่อตับจากแอลกอฮอล์ 06/02/09

การป้อนสารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัด ทำให้หนูขาวมีระดับไขมันในเลือดและตับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณคอลลาเจนในตับ, ลดปริมาณอัลดีไฮด์และการเกิดปฏิกิริยาเปอร์ออกซิเดชั่น เมื่อเปรียบเทียบผลของกลุ่มที่3กับกลุ่มที่4 ที่ป้อนสาร Silymarin พบว่า กลุ่มที่3 ที่ป้อนสารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดให้ผลดีทั้งเรื่องระดับไขมันในเลือดและตับ,ปริมาณและคุณภาพของคอลลาเจนในตับซึ่งเกิดจากพิษแอลกอฮอล์ใกล้เคียงกับกลุ่มที่4 จากผลการศึกษาจึงสันนิษฐานได้ว่าสารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดมีฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อตับ

 

ฤทธิ์สมานแผลของลูกซัด 16/10/03

การศึกษาฤทธิ์สมานแผลของเมล็ดลูกซัดในหนู โดยให้หนูกินหรือพอกสารละลายแขวนตะกอนของเมล็ดลูกซัดพบว่าทำให้แผลหายเร็วขึ้น การสร้างเนื้อเยื่อชั้นนอกและชั้นใต้ผิวหนังเร็วขึ้น มีการกระตุ้นการสร้าง collagen โปรตีน และ DNA และเพิ่ม tensile strength


ฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดไข้จากลูกซัด 09/05/01

จากการทดลองในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าหลังด้วย formalin และให้สารสกัดใบของต้นลูกซัด (Trigonella foenum - graecum Linn. )เปรียบเทียบกับ sodium salicylate ( SS ) พบว่าสารสกัด 1000 mg/kg ได้ผลเทียบเท่ากับ SS 300 mg/kg และสารสกัดในขนาด 2000 mg/kg จะออกฤทธิ์ได้แรงกว่า เมื่อทดลองในระยะยาว ( chronic administration ) พบว่าสารสกัดลูกซัดจะให้ผลดีกว่า SS เมื่อทดลองในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นไข้ด้วย 20%(w/v) brewer yeast พบว่าสารสกัดลูกซัด ( 1000 mg/kg ) สามารถลดไข้ได้อย่างมีนัยสำคัญภายใน 1 และ 2 ชั่วโมง ซึ่งผลดังกล่าวอาจเกิดจากสารอัลคาลอยด์ที่พบ

 

 


ลูกซัดกับโรคพาร์กินสัน 17/08/15

กลุ่มที่ได้รับ IBHB มีอาการของโรคพาร์กินสันลดลง การเคลื่อนไหวต่างๆ ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้พบว่า IBHB มีความปลอดภัยในการใช้ค่อนข้างสูง และผู้ป่วยทนต่อยาได้ดี ทำให้สามารถสรุปได้ว่า IBHB มีประสิทธิภาพในการใช้เป็นอาหารเสริมร่วมกับยา L-Dopa ในการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Visitors: 299,153