ยาหอมนวโกฐ

บัญชียาหลักแห่งชาติ ด้านสมุนไพร

 

 

ยาหอมนวโกฐ

ยาผง ยาเม็ด ยาผง (รพ.) ยาเม็ด (รพ.)


สูตรตำรับ:
ในผงยา 212 กรัม ประกอบด้วย
1. โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ 4 กรัม
2. เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ 4 กรัม
3. เปลือกสมุลแว้ง หญ้าตีนนก รากแฝกหอม เปลือกชะลูด หัวเปราะหอม กระลำพัก ขอนดอก เนื้อไม้กฤษณา หนักสิ่งละ 4 กรัม
4. เหง้าขิงแห้ง ดอกดีปลี รากเจตมูลเพลิงแดง เถาสะค้าน รากช้าพลู หนักสิ่งละ 3 กรัม
5. หัวแห้วหมู ลูกกระวาน ดอกกานพลู ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ เปลือกอบเชยญวน ลูกผักชีลา แก่นสน หนักสิ่งละ 4 กรัม
6. แก่นสักขี ลูกราชดัด ลูกสารพัดพิษ แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด หนักสิ่งละ 4 กรัม
7. เกสรบัวหลวง ดอกบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ หนักสิ่งละ 4 กรัม
8. เนื้อลูกมะขามป้อม เนื้อลูกสมอพิเภก รากชะเอมเทศ หนักสิ่งละ 4 กรัม
9. พิมเสน หนัก 1 กรัม

ตัวยาสำคัญ:


รูปแบบ/ความแรง:

ข้อบ่งใช้:
1. แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ
2. แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย)

ขนาดและวิธีใช้:
ชนิดผง
รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม ละลายน้ำกระสาย เมื่อมีอาการ ทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
น้ำกระสายยาที่ใช้
• กรณี แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ ใช้น้ำลูกผักชี (15 กรัม) หรือเทียนดำ (15 กรัม) ต้มเป็นน้ำกระสายยา
• กรณีแก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการเช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย) ใช้ก้านสะเดา (33 ก้าน หรือ 15 กรัม) ลูกกระดอม (7 ลูก หรือ 15 กรัม) และเถาบอระเพ็ด (7 องคุลี หรือ 15 กรัม) ต้มเป็นน้ำกระสายยา
• ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน
ชนิดเม็ด
รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม ทุก 3 - 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง

ข้อห้ามใช้:
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้

ข้อควรระวัง:
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้

ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ:
ในสูตรตำรับได้ตัดไคร้เครือออก เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าไคร้เครือที่ใช้และมีการจำหน่ายในท้องตลาด เป็นพืชในสกุล Aristolochia ซึ่งพืชในสกุล Aristolochia มีรายงานพบว่าก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อไต (nephrotoxicity) และเมื่อปี ค.ศ. 2002 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้พืชสกุล Aristolochia เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

 

Visitors: 299,476