6 อภินิหารผักลดความดัน

6 อภินิหารผักลดความดัน


กระเทียม มีรายงานการศึกษาหนึ่งพบว่ากระเทียมลดความดันโลหิตตัวบนได้ 12 มิลลิเมตรปรอท และลดความดันตัวล่างได้ 9 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยสารอัลลิซินในกระเทียม ช่วยเพิ่มการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งมีผลขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันลดลง โดยทานกระเทียมเพียงวันละ 1-2 กลีบ หรือทานในรูปแบบผงกระเทียม 600-900 มิลลิกรัมต่อกรัม เป็นเวลา 12-23 สัปดาห์ นอกจากนี้กระเทียมยังมีผลลดไขมันในเลือดได้


ขิง มีผลลดความดันโลหิต โดยออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับยาในกลุ่ม calcium channel blocker นอกจากนี้ขิงยังมีผลลดการอักเสบ ลดไขมันในเลือด

ควรระวังการทานกระเทียมและขิงในรูปแบบสารสกัด หรือการรับประทานในปริมาณมากในผู้ป่วยที่มีการทานยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย เพราะกระเทียมและขิง อาจมีผลเพิ่มฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือด


กระเจี๊ยบแดง ความโดดเด่นของกระเจี๊ยบ คือ ไม่ว่ากระเจี๊ยบแดงจะงอกงาม ณ ประเทศไหน คนในประเทศนั้นจะมีการใช้กระเจี๊ยบแดงที่เหมือนกัน คือ ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต เป็นยาขับปัสสาวะ และยังเชื่อว่ากระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณในการบำรุงไต และหัวใจ จากการทดลองในสัตว์และมนุษย์ พบว่า กระเจี๊ยบแดงสามารถลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ขับยูริค รวมทั้งลดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะภายหลังการผ่าตัดในไตได้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการดื่มชากระเจี๊ยบวันละ 2 - 3 ครั้ง สามารถลดความดันโลหิตตัวบนลงตั้งแต่ร้อยละ 7.2 ถึง 13 เลยทีเดียว นักวิทยาศาสตร์วิจัยพบว่า การที่กระเจี๊ยบแดงสามารถลดความดันโลหิตได้ เนื่องมาจากสาร “แอนโธไซยานิน” (anthocyanins) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดนั่นเอง


ขึ้นฉ่าย ชาวเอเชีย นิยมใช้ขึ้นฉ่ายเป็นยาลดความดันโลหิตมากว่า 2000 ปีแล้ว ชาวจีน ชาวเวียดนามแนะนำให้รับประทานคึ่นไฉ่วันละ 4 ต้น เพื่อรักษาความดันให้เป็นปกติ หรืออาจใช้ขึ้นฉ่ายสด (ไม่เอาราก) ล้างให้สะอาด คั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมจำนวนเท่ากัน ดื่มครั้งละ 40 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง (อุ่นก่อนดื่ม) ทดลองในผู้ป่วย 16 ราย ได้ผล 14 ราย ไม่ได้ผล 2 ราย โดยทั่วไปความดันโลหิตเริ่มลดลง หลังจากกินยาแล้วหนึ่งวัน มีบางรายที่ความดันเริ่มลดลงหลังจากกินยาไปแล้ว 4 วัน ผู้ป่วยจะรู้สึกเองว่าอาการดีขึ้น นอนหลับดี ปริมาณปัสสาวะมากขึ้น


บัวบก เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากบัวบกทำให้การไหลเวียนของเลือดทั้งในหลอดเลือดดำและเส้นเลือดฝอยมีการไหลเวียนดีขึ้น มีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี จึงสามารถลดความดันโลหิตได้ ทั้งนี้ มีรายงานการวิจัยที่สนับสนุนว่า สารสกัดเอทานอลจากต้นบัวบก มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูขาวเมื่อให้ทางหลอดเลือดดำ น้ำคั้นจากต้น และสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูขาวและสุนัข บัวบกยังทำให้หลอดเลือดดำและเส้นเลือดฝอยแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อคนที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดและคนที่เป็นริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อระบบประสาท ทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น มีฤทธิ์คลายความเครียด ซึ่งฤทธิ์คลายความเครียดนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงด้วย


มะรุม นับเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด โดยจากประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านทั้งในไทยและต่างประเทศ และการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า ส่วนของใบและรากของมะรุม มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตได้ สำหรับตำรับยาแก้ความดันโลหิตสูง เช่น นำรากมาต้มกินเป็นซุป นำยอดมาต้มกิน ใช้ยอดมะรุมสด โดยจะเป็นยอดอ่อนหรือยอดแก่ก็ได้ นำมาโขลกคั้นเอาน้ำ (ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปพอให้เหลวข้น) ผสมน้ำผึ้งพอหวาน กินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว หากต้องการทานมะรุมติดต่อกันนานๆ อาจต้องคอยตรวจเช็คค่าการทำงานของตับ เนื่องจากอาจมีผลทำให้เอนซ์ไซม์ตับเพิ่มขึ้นได้ในบางราย และระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ เนื่องจากมะรุมมีผลทำให้หัวใจเต้นช้าลงเช่นกัน

นอกจากนี้การปรับพฤติกรรมบางอย่างก็มีผลช่วยลดความดันโลหิตได้ เช่น ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ ลดความเครียด ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน

 

ผู้เขียน : ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ
http://www.abhaiherb.com/knowledge/thaiherb/6667

Visitors: 298,934